โรงเรียนมหิธรวิทยา ที่ตั้ง 797 หมู่ 20 บ้านหนองโตงพัฒนา ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 โทร 044-516059, 044-713135  โทรสาร 044-516059  e-mail : mahidhornwittaya@hotmail.com  website : mahi.ac.th เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เนื้อที่ 93 ไร่ เขตพื้นที่บริการ หมู่ 3 บ้านไทย หมู่ 9 บ้านโคกมะเมียน หมู่ 11 บ้านหลักวอ หมู่ 16 บ้านดู่พัฒนา

            โรงเรียนมหิธรวิทยา ได้รับการจัดตั้งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ให้เป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระดับจังหวัด สังกัดกรมสามัญศึกษาตามนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษา ให้นักเรียนต่างจังหวัดมีโอกาสได้รับการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในระดับจังหวัด ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาส และพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในส่วนภูมิภาคให้ทัดเทียมกับนักเรียนในส่วนกลางมากยิ่งขึ้น

            ตามนโยบายดังกล่าว สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์ (สศ.จ.สุรินทร์) มีคำสั่งที่ 109/2537       ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2537 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาประจำจังหวัดสุรินทร์  มีคณะกรรมการจำนวน 8 คน คือ

            นายไชยพงษ์  สายเชื้อ     ผู้อำนวยการโรงเรียนประสาทวิทยาคาร          ประธานคณะกรรมการ

            นายสมนึก  ศูนย์กลาง     ผู้อำนวยการโรงเรียนกาบเชิงวิทยา               รองประธานคณะกรรมการ

            นายสุวัฒน์  โคตะสิน       ผู้อำนวยการโรงเรียนรามวิทยารัชมังคลาภิเษก  กรรมการ

            นายประสงค์  สุภาสัย      ครูใหญ่โรงเรียนสุรินทร์ภักดี                       กรรมการ

            นายฤกษ์ชัย  พวงนาค     ครูใหญ่โรงเรียนโชคเพชรพิทยา                   กรรมการ

            นายกิตติ  สืบนุการณ์      ครูใหญ่โรงเรียนวีรวัฒน์โยธิน                      กรรมการ

            นายเกษม  ลาดสะอาด     ครูใหญ่โรงเรียนสุรินทร์พิทยาคม                  กรรมการ

            นายบัญญัติ  ทองคำ    หัวหน้าศึกษานิเทศก์สามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์    กรรมการและเลขานุการ

            คณะกรรมการฯ ได้เสนอขออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุในครอบครองของจังหวัดทหารบกสุรินทร์ โดยความเห็นชอบของจังหวัดทหารบกสุรินทร์ ตามนัยของหนังสือที่ กห 0482.67/2188 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2537 ซึ่งจังหวัดทหารบกโดยแม่ทัพภาคที่ 2 ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดตั้งโรงเรียนตามคำขอของ สศ.จ.สุรินทร์ ตามหนังสือที่ กห 0404/13418/27 ลงวันที่ 30 มกราคม 2538 เรื่อง ขออนุญาตให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุ ทะเบียนเลขที่ 24683 ตาม สค.1 เลขที่ 146 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2498  ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการเกษตร ในครอบครองของจังหวัดทหารบกสุรินทร์ และ ร.23 พัน 3

            ในระหว่างที่รอการอนุมัติให้ใช้พื้นที่จากกองทัพบก สศ.จ.สุรินทร์ ได้ขออนุมัติ จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ประจำจังหวัดสุรินทร์  จากกระทรวงศึกษาธิการ  และได้รับการจัดตั้งตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ  ลงวันที่ 18  พฤษภาคม 2538  เรื่อง การแต่งตั้งโรงเรียนรัฐบาล ลงนามโดยนายสัมพันธ์  ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีโรงเรียนที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษานี้ จำนวน 6 โรงเรียน  ดังนี้

            1. โรงเรียนภูเก็ตพิทยาคม        ตำบลวิชิต                  อำเภอเมือง       จังหวัดภูเก็ต

            2. โรงเรียนน่านประชาอุทิศ      ตำบลกองควาย            อำเภอเมือง       จังหวัดน่าน

            3. โรงเรียนอุดรพัฒนาการ       ตำบลบ้านจั่น              อำเภอเมือง       จังหวัดอุดรธานี

            4. โรงเรียนพระวอพระตาวิทยานุสรณ์     ตำบลกระโสบ   อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี

            5. โรงเรียนนครราชสีมาวิทยาลัย  ตำบลโคกกรวด           อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา

            6. โรงเรียนมหิธรวิทยา ตำบลนอกเมือง       อำเภอเมืองสุรินทร์   จังหวัดสุรินทร์

            ในระหว่างที่รอการประกาศจัดตั้งโรงเรียนนั้น คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนนำโดย        นายโอภาส  วัยวัฒน์, นายกิตติ  สืบนุการณ์, นายแหลมทอง  ดอกประทุม และนายจำลอง ชูเชิด ได้เข้าพบ     นายเสนอ  มูลศาสตร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2538 เพื่อขอความอนุเคราะห์ตั้งชื่อโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งใหม่  เพื่อเป็นสิริมงคล จึงตั้งชื่อให้ว่า “มหิธรวิทยา” คำว่า มหิธรนี้ ผู้ตั้งชื่อโรงเรียนได้อธิบายความเป็นมาและความหมายของชื่อมหิธรวิทยาไว้  2  ประการ คือ

            ประการแรก มาจากคำว่า มหิธรปุระ  ซึ่งนายเสนอ  มูลศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “รืงมืงสะเร็น” ว่า เป็นชื่อเมืองเก่าของเจ้าชายชัยวรมัน (ในราชสกุลชัยวรมัน ซึ่งต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ซึ่งที่ตั้งของเมือง คือ บริเวณเมืองประทายสมันต์เดิม และอยู่ภายในกำแพงเมืองสุรินทร์ อันเป็นที่ตั้งของเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน

            ประการที่สอง  ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้ความหมายว่า มหิธร หมายถึง ผู้ทรงแผ่นดิน หรือ พระเจ้าแผ่นดิน

            ดังนั้น ชื่อโรงเรียนมหิธรวิทยา จึงมาจากชื่ออาณาจักรขอมโบราณในเขตอีสานตอนล่าง และหมายความถึง สถานศึกษาวิชาของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

            ในช่วงของการรับสมัครนักเรียน ปีการศึกษา 2538 โรงเรียนมหิธรวิทยา โดยสำนักงานสามัญศึกษา จังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนชั้น ม. 4 จำนวน 80 คน ตามประกาศโรงเรียนมหิธรวิทยา เรื่องการรับนักเรียนเข้าศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประเภทสอบคัดเลือก ลงวันที่ 11 เมษายน 2538 ผลของการรับสมัคร ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักเรียนภายในจังหวัดเป็นจำนวนมาก โรงเรียนสามารถรับนักเรียนเข้าเรียนได้ทั้งสิ้น จำนวน 101 คน จัดการศึกษาเป็น 2 ห้องเรียน ในภาคเรียนที่ 1/2538 ได้รับการอนุเคราะห์จากโรงเรียนสิรินธร  ในด้านบุคลากร อาคาร สถานที่ วัสดุครุภัณฑ์ จัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดหมายของหลักสูตร โดยมีนายสุระ  ประยงค์หอม  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนมหิธรวิทยา และมีนางละออ  จองอยู่ ผู้อำนวยการโรงเรียนสิรินธร ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนมหิธรวิทยาด้วย ในภาคเรียนที่ 2/2538 โรงเรียนมหิธรวิทยาได้รับการจัดสรรตำแหน่งบุคลากรจากกรมสามัญศึกษา จำนวน        6 อัตรา ได้รับย้ายและบรรจุครู-อาจารย์ 6 คนแรก และได้มีการย้ายหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปตามวิถีทางราชการ

            เมื่อสร้างอาคารเรียนแบบ 318 ล/38 พิเศษ เสร็จแล้วโรงเรียนได้ จัดพิธีขึ้นอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 และย้ายมาเปิดการเรียนการสอนที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 เป็นต้นมา ปัจจุบันโรงเรียนมหิธรวิทยา มีบุคลากรเป็นข้าราชการ จำนวน 17 คน ลูกจ้างประจำ 1 คน ลูกจ้างชั่วคราว 1 คน

            ปัจจุบันโรงเรียน มีอาคารเรียน แบบ 318 ล/38 พิเศษ 1 หลัง โรงอาหารแบบ 300 ที่นั่ง 1 หลัง

            ปรัชญาโรงเรียน         สิกฺขา ชีวิตฺ ปชฺโชโต       การศึกษา คือ การสร้างดวงตาให้ชีวิต

            สีประจำโรงเรียน        ม่วง – ขาว

            ต้นไม้ประจำโรงเรียน    ปีบ (กาสะลอง, กางของ)

            สัญลักษณ์โรงเรียน     

                    สัญลักษณ์รูปหนังสือวางบนพาน ที่ตั้งอยู่ระหว่างงาช้างคู่ มีเปลวเทียนเป็นแสงสว่างนำทาง ซึ่งหมายความว่า การศึกษา เป็นเครื่องมือนำทางชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนดวงตาของชีวิต

            อัตลักษณ์ของสถานศึกษา

                    โรงเรียนสีเขียว(green school)พอเพียง เคียงคู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น